605 สัปดาห์ ที่แล้ว - คนดู 1,197
  •  รูปที่ 1
รายละเอียด
ความรู้เรื่องเผือกหอม เป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่สำคัญอีกพืชหนึ่ง คนไทยนิยมบริโภคเผือกเพราะมีกลิ่นหอม เป็นพืชหัวที่เป็นพืชอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง หัวเผือกจะมีส่วนประกอบเป็นพวกแป้งและแร่ธาตุต่างๆ ใบประกอบไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม เผือก เป็นพืชหัวที่มีต้นคล้ายบอน มีความต้องการน้ำหรือความชื้นในการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง ชอบดินอุดมสมบูรณ์และสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มาก ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเผือกมากที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสูง หน้าดินลึก ระบายน้ำดี และระหว่างการปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ต้องรักษาระดับน้ำหน้าดินให้ดินเป็นโคลนอยู่เสมอ ลักษณะทั่วไป เผือกเป็นพืชหัวที่มีลำต้นใต้ดิน สะสมอาหารเรียกว่า หัวซึ่งเกิดจากการขยายของลำต้นใต้ดิน พร้อมกับความยาวของปล้องลดลง เมื่อหัวมีขนาดใหญ่ จะมีรากช่วยดึงหัวให้ลึกลงในดินที่ปลายรากเหล่านี้จะพองโตขึ้นเป็นหัวย่อยที่มีขนาดเล็ก หรือเรียกว่า ลูกเผือก ซึ่งจะทำน้าที่ช่วยยึดลำต้น ช่วยดูดน้ำและแร่ธาตุ และสามารถใช้เป็นส่วนที่ขยายพันธุ์ได้ต่อไป ฤดูปลูก ประเทศไทยปลูกเผือกได้ทั่วทุกภาคและทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี แต่เกษตรกรนิยมปลูกในต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และในช่วงฤดูแล้งหลังการทำนา เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ การจำแนกพันธุ์เผือก 1.จำแนกเผือกตามกลิ่นของหัว มี 2 ประเภท คือ 1.1 เผือกหอม เวลาต้มหรือประกอบอาหารจะมีกลิ่นหอม ได้แก่ เผือกหอมเชียงใหม่ 1.2 เผือกไม่หอม จะไม่มีกลิ่นหอมเวลาต้มหรือประกอบอาหาร ได้แก่ เผือกพันธุ์ การขยายพันธุ์เผือก 1.การเพาะเมล็ด เผือกแต่ละพันธุ์มีการออกดอกและติดเมล็ดน้อยจึงไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ 2.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรไม่นิยม 3.การขยายพันธุ์โดยใช้หน่อ เป็นส่วนที่แตกออกมาเป็นต้นเผือกขนาดเล็กอยู่รอบๆต้นใหญ่ เมื่อแยกจากต้นแม่แล้วสามารถนำไปลงแปลงปลูกได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเพาะชำ เกษตรกรจึงนิยมปลูกขยายพันธุ์เผือกด้วยวิธีนี้เป็นส่วนมาก 4.การขยายพันธุ์โดยใช้หัวพันธุ์ หรือเรียกว่า ลูกซอ หรือ ลูกเผือก เป็นหัวขนาดเล็กอยู่รอบๆหัวเผือกขนาดใหญ่ การเตรียมดินและการปลูกเผือกหอม 1.ไถดะ ไถแปร คราดแปลงตามแนวยาวปรับพื้นที่ให้เรียบ 2.ดินเป็นกรด ควรหว่านปูนขาว อัตรา 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ (ขึ้นอยู่กับดินว่าเป็นกรดมากหรือน้อย) หว่านปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือ อินทรียวัตถุ แล้วไถกลบก่อนปลูก 2-3 เดือน 3.นำหน่อเผือกที่เตรียมไว้ แตกใบ 1-2 ใบ ไปปลูกลงแปลง แบบปักดำนา ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 60 เซนติเมตร ระหว่างแถวให้อยู่ที่ประมาณ 30-40 เซนติเมตร 4.พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกหน่อเผือกได้ประมาณ 12,000 หน่อ หรือประมาณ 100-200 กิโลกรัม การให้น้ำ ปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงเป็นระยะ อย่าให้ขาดน้ำ รักษาระดับน้ำให้สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร อยู่ตลอดเวลา  การคลุมแปลงเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ เพื่อป้องกันวัชพืชใช้ฟางข้าว เปลือกถั่ว หญ้าคา พลาสติกดำ เป็นวัสดุคลุมแปลงการใช้วัสดุคลุมแปลง จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นอีก 18-20% การใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 1 รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1-3 กำมือต่อต้น และปุ๋ย 18-6-6 อัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ ครั้งที่ 2 อายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ย 18-6-6 หรือ 15-15-15 หรือ 46-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ ครั้งที่ 3 อายุ 4 เดือน ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ การเก็บเกี่ยว เผือกอายุ 6-7 เดือน สังเกตเห็นใบเผือกจะเล็กลง ใบล่างๆจะมีสีเหลือง เหลือใบยอด 2-3 ใบ จึงสามารถขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนขุดเผือกประมาณ 15-30 วัน ไม่ควรเอาน้ำเข้าแปลงหรือรดน้ำเพราะเผือกจะดูดซึมน้ำไว้มาก เก็บไว้ได้ไม่นาน โรคและแมลงศัตรูเผือก 1.โรคใบไหม้หรือโรคใบจุดตาเสือ เกิดจากเชื้อรา อาการ เกิดแผลสีน้ำตาลขยายเป็นวงต่อๆกัน ต่อมาจะเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาล บริเวณขอบแผลมีหยดสีเหลืองข้นและแห้งเป็นเม็ดเล็กๆ ในระยะรุนแรงแผลจะขยายติดต่อกัน ทำให้ใบม้วนพับเข้าและแห้งเหี่ยว ความสัมพันธ์ของความชื้นและอุณหภูมิจะมีผลต่อการเกิดโรค โรคนี้จะเริ่มระบาดเมื่อมีฝนตกและอากาศชุ่มชื้น การป้องกันกำจัด : ใช้สารเคมี ทาริล หยอดลงไปที่โคนต้น หรือ ใช้สารคูปราวิท ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น ควรใช้สารจับใสผสมลงไปด้วย 2.โรคหัวเน่า เกิดจากเชื้อรา อาจเกิดได้ระหว่างการเก็บรักษาหัวเผือก หรือปล่อยทิ้งไว้ในแปลงปลูกนานเกินไป หรือ มีน้ำท่วมขังแปลงปลูกเผือกในช่วงเผือกใกล้เก็บเกี่ยว การป้องกันกำจัด : ในช่วงเก็บเกี่ยวหลีกเลี่ยงไม่ให้หัวเผือกได้รับน้ำหรือความชื้นมากเกินไป ถ้ามีน้ำท่วมขังสูงควรสูบออก 3.หนอนกระทู้ผัก ระบาดเฉพาะแหล่งไม่พบทั่วไป มีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น บัวหลวงและพืชผักชนิดต่างๆ ลักษณะการทำลาย ตัวหนอน กัดกินใบเผือกด้านล่างเหลือไว้แต่ผิวใบด้านบนทำให้ผิวใบแห้ง เผือกจะลงหัวน้อย ผลผลิตที่ได้ต่ำ การป้องกันกำจัด : ใช้สารเคมี ไซปรอย หรือ แอมบุช  แลนเนท อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นช่วงที่หนอนระบาด ตามอัตราที่กำหนด หรือ ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส ป้องกันกำจัด 4.เพลี้ยอ่อน ระบาดเฉพาะแหล่ง ไม่พบทั่วไป จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบและยอดอ่อนของเผือก ทำให้เผือกแคระแกร็นไม่ค่อยเจริญเติบโต การป้องกันกำจัด : ใช้สารเคมี ไซปรอย คาบิว 85 มาลาไธออน หรือ เซฟวิน ฉีดพ่น