การจัดการความรู้ศูนย์อนามัยที่8นครสวรรค์

651 สัปดาห์ ที่แล้ว - คนดู 507
  • การจัดการความรู้ศูนย์อนามัยที่8นครสวรรค์ รูปที่ 1
รายละเอียด
เมื่อปี 2551 หลังจากเริ่มงานจัดการความรู้ที่กรมอนามัยไปได้1 ปี มีที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ชื่อ Nigel มาขอคุยที่สำนักสนับสนุนการจัดการความรู้ ที่กรมอนามัย เพื่อขอข้อมูลและตัวอย่างการทำงาน จัดการความรู้ที่กรมอนามัย ด้วยได้ทราบจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนว่าที่กรมอนามัยมีรูปแบบการทำงานเรื่องนี้ที่น่าสนใจ นั่นเป็นครั้งแรกที่ ทีมงานสำนักสนับสนุนการจัดการความรู้ กรมอนามัย ได้ยินแนวคิดเรื่อง organizational intellectual assets ที่คุณNigel เล่าให้ฟังว่า เขามีเครื่องมือประเมิน “ทรัพย์สินทางปัญญา”ขององค์กรได้ และเขาเชื่อว่ามันเป็น ทรัพย์สินสำคัญ ที่มีมูลค่า มากกว่า ทรัพย์สินที่เป็นเงินทอง หรือสิ่งของ (ที่ดิน ตึก อุปกรณ์ ฯลฯ) ที่มักถูกประเมินค่ากันตามปกติ ในวงการธุรกิจ แต่แน่นอนว่า เครื่องมือประเมิน รวมทั้งการให้คำจำกัดความ และขอบเขตที่ชัดเจนของ “ทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กร” เป็นเรื่องที่ยังไม่ลงตัว และยังถกเถียง (ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้) ได้อีกมาก แต่เนื่องจากภาระกิจ เฉพาะหน้าที่จะต้องกระตุ้น และเรียนรู้ไปพร้อมกับหน่วยงายย่อยต่างๆในกรมอนามัยว่าเราควรจัดระบบ และทำงานกันแบบไหนจึงจะทำให้แนวคิดและความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้แทรกซึมผสมผสานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ในกรมอนามัย ทำให้เรื่อง organizational intellectual assets ถูกเก็บไว้เป็นการบ้านที่ยังไม่มีเวลาไปทำ ในปี 2554 ผมได้รับเอกสารชิ้นหนึ่งจาก อาจารย์ เชิดชัย นพมณีจำรัส และทีมงานจาก สำนักงานส่งเสริม R2R ของ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช เป็นองค์กรแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการ shortlisted จาก โครงการสรรหา องค์กรที่น่าชื่นชมในฐานะองค์กรแห่งความรู้ (Most Admired Knowledge Enterprise - MAKE) ที่ใช้การสอบถาม ผู้บริหารบริษัทในเอเซียที่ติดอันดับ fortune500 เพื่อเป็นตัวอย่าง องค์กรที่มีผลประกอบการ และศักยภาพในการจัดการความรู้ นำไปสู่การเพิ่มประโยชน์ให้กับลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในเอกสารของโครงการระบุชัดเจนว่า มีการประเมินสิ่งที่เรียกว่า organizational Intellectual assests อย่างเป็นระบบ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง จากปี 2550 ที่เริ่มต้น จนถึงปี 2554 ทีมงานสำนักสนับสนุนจัดการความรู้ หน่วยงานในกรมอนามัยได้สะสมประสบการณ์ และผลงาน รวมทั้งสร้างประโยชน์ในการทำงาน จากการจัดการความรู้มามากมาย แม้จะยังไม่ทั่วถึง ทุกหน่วยงานย่อยอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่หลายหน่วยงานก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ในขั้นที่ “สร้าง คุณค่า และผลประโยชน์ ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “ภาคี”จึงสรุปกันว่า ถึงเวลาที่ จะต้องลองรวบรวม และประเมิน “ทรัพย์สินทางภูมิปัญญา” ของกรมอนามัยได้เสียที นี่เป็นเพียงความพยายามในระยะเริ่มต้น ที่จะทำแปลงแนวคิด ให้เป็นรูปธรรม ด้วยหวังว่า ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ทุกคนใน กรมอนามัย จะได้เห็นคุณค่าของ “ทรัพย์สิน” ที่มีอยู่มากมายในองค์กร และรวบรวมขึ้นมาเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และได้ง่ายขึ้น และยังหวังว่า จะเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจ ให้มากขึ้นผ่านการลงมือทำ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ สิ่งที่มีคนคิด คนเขียน และคนทำไว้ก่อนแล้ว หากพิจารณาจากเอกสาร และบทความที่มีการพูดถึงแนวคิดว่าด้วย “ทรัพย์สินทางภูมิปัญญา” (ที่จะขอใช้แทนคำว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” อันมักหมายถึงเพียง สิ่งที่นำไปจดทะเบียน หรือแสดงความเป็นเจ้าของได้) น่าจะอ้างอิง คำว่า intellectual capital (เขาไม่ใช้คำว่า assets) ของ Thomas Stewart อดีตบรรณาธิการนิตยสารธุรกิจมีชื่อคือ Harvard Business Review ที่ให้ความหมายครอบคลุมทั้งความรู้ในตัวคนที่นำไปสู่การสร้าง มูลค่า ไปจนถึง สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบอื่นที่มีการจดทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของได้ แต่เขาก็ระบุชัดเจนว่า มันไม่รวมความรู้ที่ไม่ได้เอาไปใช้ในการสร้างมูลค่า แยกจากคำว่า intellectual capital (http://www.businessdictionary.com/definition/intellectual-capital.html) ด้วยการระบุว่า intellectual assets หมายถึง บรรดาผู้คนที่มี intellectual capital ส่วน intellectual capital ให้หมายถึง บรรดาความรู้ทั้งที่อยู่ในรูปของเอกสารความรู้ (ที่เอาไปศึกษา ใช้ประโยชน์ ในการสร้างทรัพย์สินเงินทองกลับคืนมา) เอกสารระบุสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (ที่เอาไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ โดยตีค่าเป็นมูลค่าได้ เช่นเอาไปใช้กู้เงินได้) รวมไปถึงความรู้ในตัวคน ที่บุคลากรแต่ละคนใช้ในการทำงาน และยังรวมไปถึง ความสัมพันธ์ของผู้คนในองค์กรอีกด้วย เพื่อให้เห็นความสำคัญหรือค่าของ intellectual assets ตัวอย่างทีมีการใช้เป็นประจำ คือตัวอย่างน้ำอัดลมยี่ห้อดัง ที่ตัวเครื่องดื่ม ทำจากวัสดุที่มีมูลค่าไม่มาก แต่สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าต้นทุนหลายเท่า เพราะมีองค์ประกอบที่เรียกว่า ภูมิปัญญา รวมอยู่ด้วย คือ สูตรหัวเชื้อน้ำอัดลมยี่ห้อนั้น หรือการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทางไอที ซื้อบริษัทเทคโนโลยี เล็กๆ เพื่อให้ได้ ความรู้ (ที่มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้ว) เอามาพัฒนาต่อ ในราคาสูง ทั้งที่หากนับแต่ตัวตึก หรือทรัพย์สินที่เห็นด้วยตา จำหน่ายทอดตลาดก็คงต่ำกว่าเป็น หลายร้อยเท่า คงมีอีกหลายตัวอย่างที่ ธุรกิจ เห็นค่าของ intellectual asset หรือ capital โดยเฉพาะเมื่อมันแปลงเป็น รายได้ชัดเจน ในกรณีของ องค์กร ที่ทำประโยชน์สาธารณะ อย่างกรมอนามัยทรัพย์สินทางภูมิปัญญา ดูจะมีความหมายในทางการเงินน้อยกว่า คุณค่า หรือประโยชน์โดยตรงที่องค์กรไปสร้างให้กับ สังคม หรือชุมชน หรือกลุ่มเป้าหมาย (ที่เราชอบใช้แทนคำว่าลูกค้าในทางธุรกิจ) แต่ไม่ได้แปลว่า ทรัพย์สินทางภูมิปัญญาไม่มีความหมายในการทำงานขององค์กร ในทางตรงกันข้าม อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรมีค่า และมีความจำเป็นที่ ผู้บริหาร รวมทั้งคนทำงานจะได้รู้จัก และเห็นถึง “ทรัพย์สิน” เหล่านี้ แทนที่จะมองเห็นแต่ จำนวนหัว หรือ ระดับตำแหน่งของผู้คนที่มีในองค์กร หรือ นับเฉพาะเอกสาร สิ่งพิมพ์ ที่จับต้องได้ (หรือผลงานวิชาการที่ถูกเขียนออกมา เป็นเล่มๆ)